วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2552

มุมเล็กๆ ที่น่าสนใจของลูกโลกทองคำ


ถ้าพูดถึง “ออสการ์” แล้ว แทบจะไม่มีนักดูหนังคนไหนไม่รู้จัก แม้แต่คนที่ไม่ใช่นักดูหนัง เอาเป็นว่าดูแค่ฉาบฉวย ก็ยังต้องรู้จักออสการ์กันบ้างล่ะ จริงมั๊ย?... เค้าว่าจะดูรางวัลออสการ์ให้สนุก อย่างน้อยก็ต้องรู้เรื่องพอให้ถูไถไปได้บ้าง จึงไม่น่าแปลกที่ใครๆ ต่างพากันสนใจสิ่งละอันพันละน้อย และอีกสารพัดสารพันสถิติที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาอันยาวนานของรางวัลๆ นี้ ลองไปหาแฟนพันธุ์แท้ออสการ์ดูสิ มีตรึม!!! เสร็จแล้วลองถามคำถามอย่าง “ใครได้รางวัลมากที่สุด?”, “นักแสดงอายุมากที่สุดที่ได้รางวัลเป็นใคร?”, “หนังที่ได้ออสการ์มากที่สุดล่ะ?” ...เชื่อว่ามีหลายคนที่รู้ ...แต่ถ้าหากเราเอาคำถามพวกนี้มาถามซ้ำ แล้วเปลี่ยนจากออสการ์มาเป็นรุ่นน้องอย่างลูกโลกทองคำแทน ต่อให้เชี่ยวออสการ์ยังไง บางคนก็มาตายกันตรงนี้แหละ!! เพราะฉะนั้นก่อนจะไปออสการ์ เรามาเก็บความรู้เผื่อเอาไว้ช่วยให้ดูสนุกๆ ก่อนที่การประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงลูกโลกทองคำที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคมนี้กันดีกว่าครับ

• ในปัจจุบัน งานประกาศผลรางวัลลูกโลกทองคำเป็นเพียงงานเดียวที่มีการมอบรางวัลทั้งผลงานทางด้านภาพยนตร์ และโทรทัศน์

• การถ่ายทอดสดงานประกาศผลครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 1958 โดยการถ่ายทอดสดในครั้งนั้นเป็นการถ่ายทอดเฉพาะในนครลอสแองเจลิส และเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนกระทั่งปี 1964 จึงมีการส่งสัญญาณถ่ายทอดสดทั่วประเทศเป็นครั้งแรก

• การถ่ายทอดสดในปี 1964 และ 1965 ถูกแทรกเป็นช่วงพิเศษในรายการ The Andy Williams Show

• หนังที่ได้รับลูกโลกทองคำมากที่สุดมีจำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ Doctor Zhivago (1965), Love Story (1970), The Godfather (1972), One Flew over the Cuckoo’s Nest (1975) และ A Star is Born (1976) โดยทั้งหมดได้รับรางวัลเท่ากัน นั่นคือ 5 รางวัล

• นอกจากนี้ Doctor Zhivago, One Flew over the Cuckoo’s Nest, A Star is Born และ The Lord of the Rings: The Return of the King (2003), Slumdog Millionaire (2008) ยังเป็นหนังเพียง 5 เรื่องที่สามารถทำแต้มชนะได้สมบูรณ์แบบจากทุกสาขาที่ได้เข้าชิง โดย Return of the King และ Slumdog Millionaire ได้เข้าชิง 4 สาขา

• เรื่องที่สุดของ One Flew over the Cuckoo’s Nest ยังไม่จบแค่นี้ เพราะ One Flew over… ยังเป็นหนังเพียงเรื่องเดียวที่คว้ารางวัลได้แบบ Top 5 หรือ 5 สาขาหลัก นั่นคือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทดราม่า โดยมีไมเคิล ดักลาสเป็นผู้อำนวยการสร้าง, นักแสดงนำชาย (ดราม่า) จาก แจ๊ค นิโคลสัน, นักแสดงนำหญิง (ดราม่า) จาก หลุยส์ เฟล็ตเชอร์, ผู้กำกับยอดเยี่ยม จาก มิลอส ฟอร์แมน และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากการเขียนบทของโบ โกลด์แมน (นอกจากรางวัล Top 5 แล้ว แบรด ดูริฟ ยังได้รับรางวัลพิเศษนักแสดงหน้าใหม่ชายยอดเยี่ยมจากบท ‘บิลลี่ บิบบิท’ มาอีกหนึ่งรางวัลด้วย ...อะไรมันจะเยี่ยมขนาดนี้!!)

• ยังคงวนเวียนอยู่แถวๆ ปี 1975 ต่อไป เพราะหนังที่ได้เข้าชิงลูกโลกทองคำสูงสุดในประวัติศาสตร์ก็อยู่ในปีเดียวกับ One Flew over… นั่นแหละ หนังเรื่องนั้นก็คือ Nashville ซึ่งทำสถิติเข้าชิงเอาไว้ที่ระดับ 9 รางวัลจาก 6 สาขาอันได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทดราม่า, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ...ไม่ต้องงงว่า 6 สาขาแต่ชิงจริงๆ 9 เพราะเฉพาะแค่สาขาสมทบหญิงอย่างเดียวก็อัดเข้าไป 4 ชีวิตแล้วทั้ง บาร์บารา แฮร์ริส, เจอรัลดีน แชปลิน, ลีลี่ ทอมลิน และโรนี่ บลัคลีย์ เห็นยกพวกกันเข้าชิงอย่างนี้ แต่ขอโทษ... วืด!!! ยกกลุ่ม ปล่อยให้เบรนด้า วัคโคโร่ จาก Jacqueline Susann's Once is Not Enough เอารางวัลสมทบหญิงไปนอนกอดสบายใจซะงั้น... ก่อนที่ท้ายที่สุด ลี แกรนท์ จาก Shampoo ซึ่งเป็นรายชื่อที่ 6 ที่ได้ชิงในสาขานี้จะตีแสกตะวันกลายไปเป็นผู้ชนะบนเวทีออสการ์แทน!!!

• Nashville ยังคงทำงามหน้าต่อไป เมื่อเบ็ดเสร็จแล้วหนังที่ได้เข้าชิงสูงสุดในประวัติศาสตร์เรื่องนี้กลับบ้านพร้อมรางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเพลง “I’m Easy” ด้วยฝีมือของคีธ คาราดีนเพียงรางวัลเดียว ซึ่งก็เป็นเพียงสาขาเดียวบนเวทีออสการ์เช่นกันที่หนังเรื่องนี้ทำได้

• จาก Nashville ที่ครองอันดับ 1 เข้าชิงสูงสุดที่ 9 รางวัล รองลงมาก็คือ 8 รางวัล ซึ่งมีหนัง 5 เรื่องครองตำแหน่งร่วมกันดังนี้ Cabaret (1972), Bugsy (1991), Titanic (1997), Chicago (2002) และ Cold Mountain (2003)

• หนัง 2 เรื่องที่ทำแต้มได้แย่กว่าใครเพื่อนก็คือ Who’s Afraid of Virginia Woolf? ในปี 1966 และ The Godfather Part III ในปี 1990 ทั้งสองเรื่องต่างเข้าชิงทั้งสิ้น 7 รางวัล แต่ก็สอบตกทั้ง 7 รางวัล ไม่ได้อะไรติดมือกลับบ้านไปเลยซักนิดเดียว

• ใครๆ ก็รู้ว่าแคเธอรีน เฮพเบิร์นคือที่สุดของนักแสดงแห่งโลกภาพยนตร์ด้วยการเป็นเจ้าของออสการ์สาขาการแสดงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 4 ตัวจากการเข้าชิง 12 ครั้ง แต่สำหรับลูกโลกทองคำแล้วดูจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเฮพเบิร์นไม่เคยได้ลูกโลกทองคำกลับไปนอนกอดเลยซักตัวทั้งๆ ที่เข้าชิงไปตั้ง 8 ครั้ง...


• ผู้ที่ได้รับลูกโลกทองคำมากที่สุดก็คือ สุดเก๋าของวงการ... แจ็ค นิโคลสัน กับ 6 รางวัลการแสดงอันได้แก่ นำชายดราม่า จาก Chinatown (1974), One Flew over… (1975), About Schmidt (2002); นำชายเพลงหรือตลก จาก Prizzi’s Honor (1985), As Good As It Gets (1997); สมทบชาย จาก Terms of Endearment (1983) และ 1 รางวัลชีวิตการทำงานดีเด่นเซซิล บี. เดอมิลล์ในปี 1998

• ส่วนฝ่ายหญิงก็หนีไม่พ้นเจ้าป้าเมอรีล สตรีพ ครอง 6 ลูกโลกทองคำเท่ากัน ได้แก่ นำหญิงดราม่า จาก The French Lieutenant’s Woman (1981), Sophie’s Choice (1982); นำหญิงเพลงหรือตลก จาก The Devil Wears Prada (2006); สมทบหญิง จาก Kramer vs. Kramer (1979), Adaptation (2002) และนำหญิงสำหรับผลงานทางโทรทัศน์ จาก Angels in America (2003) นั่นเอง

• ในขณะที่อันดับสองซึ่งต่างได้ไปคนละ 5 ลูกโลกทองคำก็คือ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า, เชอร์ลีย์ แมคเลน, โรซาลินด์ รัสเซล และโอลิเวอร์ สโตน

• แม้ว่าโรซาลินด์ รัสเซลจะเป็นเจ้าของลูกโลกทองคำถึง 5 ครั้ง แต่เชื่อมั๊ยว่าเธอไม่เคยเป็นผู้ชนะสำหรับออสการ์เลย (ถ้าไม่นับรางวัลเกียรติยศ Jean Hersholt Humanitarian Award ที่คณะกรรมการออสการ์มอบให้เมื่อปี 1972)

• นักแสดงชาย-หญิงที่ได้เข้าชิงมากที่สุดก็คือ แจ็ค เลมมอน และ เมอรีล สตรีพ โดยเลมมอนทำสถิติไว้ที่ 22 ครั้ง ในขณะที่สตรีพทำไว้ที่ 23 ครั้ง (และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดแค่นี้!!) ครั้งล่าสุดที่สตรีพได้เข้าชิงก็เมื่อปีที่แล้วนี่เอง สร้างสถิติการเข้าชิงครั้งที่ 22 และ 23 ด้วยนำหญิงดราม่าจาก Doubt และนำหญิงเพลงหรือตลกจาก Mamma Mia! นั่นเอง (คาดว่าครั้งที่ 24 คงตามมาในปีนี้)

• หลายๆ คนคงรู้กันว่าลูกโลกทองคำใจดีแค่ไหน บ่อยครั้งที่เราจะเห็นเกินครึ่งของผู้เข้าชิงในสาขาเดียวกันกลายไปเป็นผู้ชนะ แต่มีใครรู้บ้างมั๊ยว่าสำหรับสาขาการแสดงแล้ว ครั้งเดียวที่มีผู้ชนะมากถึง 3 คนในสาขาเดียวกันก็คือ สาขานำหญิงดราม่าจากงานประกาศผลครั้งที่ 46 เมื่อปี 1988 ซึ่ง 3 คนที่ว่าได้แก่ โจดี้ ฟอสเตอร์ จาก The Accused, ซิเกอร์นีย์ วีเวอร์ จาก Gorillas in the Mist และ เชอร์ลีย์ แมคเลน จาก Madame Sousatzka ท้ายที่สุดเป็นที่ฟอสเตอร์นั่นเองที่คว้าออสการ์นำหญิงปีนั้นมาครองได้สำเร็จ

• สำหรับวีเวอร์แล้วเรียกว่าปี 1988 เป็นปีทองของเธอจริงๆ เพราะนอกจาก Gorillas in the Mist จะทำให้เธอเป็นเจ้าของลูกโลกทองคำนำหญิงดราม่าแล้ว ในปีเดียวกันเธอยังเป็นผู้ชนะสมทบหญิงจาก Working Girl ด้วย นั่นจึงทำให้วีเวอร์เป็นนักแสดง 1 ใน 4 คน ที่ได้รับลูกโลกทองคำในสาขาการแสดงถึง 2 ตัวในปีเดียวกัน


• เพื่อนร่วมตำแหน่งกับวีเวอร์อีก 3 คนที่เหลือก็คือ โจน โพลว์ไรท์ ซึ่งคว้าทั้งสมทบหญิงจาก Enchanted April และสมทบหญิงสำหรับผลงานทางโทรทัศน์จาก Stalin ในปี 1992; รายถัดมาคือเจ้าป้าเฮเลน มิเรน ผู้ซึ่งสามารถคว้าทั้งนำหญิงดราม่าจาก The Queen และนำหญิงสำหรับผลงานภาพยนตร์ทางโทรทัศน์จาก Elizabeth I ในปี 2006 มันเริ่ดก็ตรงที่ทั้งสองบทที่ป้าชนะรางวัลล้วนเป็นบทราชินีผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์อังกฤษทั้งราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ใน The Queen และราชินีเอลิซาเบธที่ 1 ใน Elizabeth I นี่แหละ ในขณะที่รายสุดท้ายก็คือสาวเคต วินสเลต ที่คว้านำหญิงดราม่าจาก Revolutionary Road และสมทบหญิงจาก The Reader ในการจัดงานครั้งล่าสุดมาหมาดๆ นี่เอง

• เจมี่ ฟ็อกซ์ ก็คือนักแสดงเพียงคนเดียวที่ได้เข้าชิงมากที่สุดในปีเดียวกัน นั่นคือในงานครั้งที่ 62 เมื่อปี 2004 ฟ็อกซ์เข้าชิงถึง 3 สาขาอันได้แก่ นำชายเพลงหรือตลกจาก Ray, สมทบชายจาก Collateral และนำชายสำหรับมินิซีรีส์หรือภาพยนตร์ที่สร้างสำหรับฉายทางโทรทัศน์ (Best Actor in a Mini-Series or a Motion Picture Made for Television) จากเรื่อง Redemption ก่อนที่จะทำสำเร็จจากการแสดงอันยอดเยี่ยมของเขาใน Ray

• นักแสดงอายุน้อยที่สุดที่เป็นเจ้าของรางวัลลูกโลกทองคำคือ ริค ชโรว์เดอร์ ซึ่งได้รับรางวัลนักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยมจาก The Champ เมื่อปี 1979 ตอนนั้นเขาเพิ่งจะมีอายุแค่ 9 ขวบเท่านั้นเอง

• ส่วนนักแสดงอายุมากที่สุดที่ได้รับลูกโลกทองคำก็คือ เจสซิก้า แทนดี้ ในวัย 80 ปีที่ได้รับรางวัลนำหญิงเพลงหรือตลกจาก Driving Miss Daisy เมื่อปี 1989 อ้อ... ถ้าเป็นนักแสดงชายก็จะเป็น เฮนรี่ ฟอนด้า จาก On Golden Pond ที่เป็นผู้ชนะสาขานำชายดราม่าเมื่อปี 1981 ตอนอายุ 76 ขวบนั่นเอง... ทั้งสองยังเป็นเจ้าของออสการ์ในเวลาต่อมาด้วย

• ดาราคนไหนๆ ก็อยากได้รางวัลการันตีความสามารถกันทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าจะเป็นรางวัลใหญ่ รางวัลเล็ก หรือรางวัลอะไรก็ตาม (เว้นไว้แต่ราซซี่... ซึ่งคงไม่มีใครอยากได้ นอกจากฮัลลี่ เบอร์รี่!) จริงมั๊ย? เรื่องของเรื่องก็คือมีเรื่องแปลกแต่จริงให้เห็นกันจนได้... เมื่อมาร์ลอน แบรนโด นักแสดงเจ้าของลูกโลกทองคำนำชายดราม่า และออสการ์นำชายจาก On the Waterfront เมื่อปี 1954 ปฏิเสธที่จะรับรางวัลนำชายดราม่าในปี 1972 หลังจากคณะกรรมการตัดสินว่าบทดอน วีโต้ที่เขาแสดงไว้ใน The Godfather โดดเด่นพอที่จะมอบลูกโลกทองคำตัวที่สองให้กับเขา สำหรับสาเหตุการปฏิเสธการรับรางวัลนั้น แบรนโดแค่บอกเอาไว้ว่าเขาต้องการทำเพื่อประท้วงลัทธิจักรวรรดินิยมของอเมริกาในขณะนั้น (โอ้...เฉียบขาดจริงๆ!!!) คิดดูละกันว่าพอถึงตอนออสการ์ คณะกรรมการยังยอมตบรางวัลตัวที่สองให้เหมือนกัน คุณปู่ยังไม่เอาเล้ยยย!!!

• เรื่องของปู่แบรนโดนี่ไม่ใช่ครั้งแรกนะ เพราะก่อนหน้านั้น 3 ปีเคยมีลัทธิ “หยิ่งนิยม” มาสร้างความเรื่องมาก (และปวดหัว) ให้กับ HFPA มาแล้ว เมื่อโปรดิวเซอร์ของหนังจากแอลจีเรียเรื่องดังอย่าง Z ไม่ยอมรับรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมประจำปี 1969 เหตุผลของพี่ท่านก็คือ พี่ท่านมั่นใจว่าหนังของพี่ท่านดีพอที่จะได้เข้าชิงในสาขาหนังยอดเยี่ยมด้วย (ออกแนวโลภ...) อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดทุกคนก็ต้องเชื่อว่าหนังของพี่ท่านดีจริง เพราะเมื่อมาถึงเวทีออสการ์ Z ได้เข้าชิงทั้งสาขาหนังยอดเยี่ยม หนังต่างประเทศยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม บทดัดแปลงยอดเยี่ยม และตัดต่อยอดเยี่ยม รวมทั้งหมด 5 สาขา ก่อนจะคว้ามาได้ 2 จากหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม และตัดต่อยอดเยี่ยม ...งานนี้พี่ท่านถึงยอมรับรางวัลแต่โดยดี ก็สะใจกันไป!!!

ทีนี้ก็เหลือแค่รอดูว่าจะมีสถิติอะไรแปลกประหลาดเกิดขึ้นกับงานประกาศผลลูกโลกทองคำในปีนี้บ้าง แอบลุ้นแอบเชียร์หนังเรื่องไหน ติดตามกันได้ 17 มกราคมนี้ครับ ...หวังว่าคงไม่มีใครก่อม็อบไม่รับรางวัลกันอีกนะ!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น